BEM คัมแบ็ก!! กำไร Q2 โต 901 ลบ. จากปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและ ศก.ฟื้นตัว ส่งผลกำไรครึ่งปี 66 พุ่ง 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 70

 
    BEM ผงาดกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 จำนวน 901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42 เหตุจากเศรษฐกิจฟื้น ปริมาณการเดินทางและผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดันรายได้หลักของบริษัททั้ง 3 กลุ่มธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นถึง 3,907 ล้านบาท พร้อมส่งผลให้กำไรสุทธิ   ช่วงครึ่งปี 2566 พุ่ง 1,650 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนถึงร้อยละ 70 ส่วนผลเชิงบวกจากการเปิดรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสสาม  

    ดร. สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2566 ว่า ภาพรวมของปริมาณการเดินทางในไตรมาสที่ 2 นั้นเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้คนกลับมาเดินทางได้เป็นปกติ ปริมาณของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐด้วยวิธีการต่างๆ 
    “จากภาพรวมการดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้ BEM มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท ในไตรมาสที่ 2/2566 จำนวน 901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 267 ล้านบาท หรือร้อยละ 42 สาเหตุจากรายได้ของสามกลุ่มธุรกิจหลักเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมีจำนวนสูงถึง 3,907 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 645 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 
    แบ่งเป็น รายได้จากธุรกิจทางพิเศษ จำนวน 2,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 189 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณรถที่ใช้ทางด่วนทุกสายทาง โดยปริมาณรถที่ใช้ทางด่วน ในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.10 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยเฉพาะทางพิเศษศรีรัช- วงแหวนรอบนอก (ทางพิเศษประจิมรัถยา) ที่มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 16 ซึ่งสูงกว่าสายทางอื่น    
    รายได้จากธุรกิจระบบราง หรือรถไฟฟ้า MRT มีจำนวน 1,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 386 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเพิ่มขึ้น 302 ล้านบาท โดยผู้ใช้บริการในไตรมาสนี้เฉลี่ยทุกประเภทวันอยู่ที่ 351,600 เที่ยวต่อวัน ขณะเดียวกันการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่สายสีน้ำเงิน ณ จุดเชื่อมต่อสถานีลาดพร้าวนั้น รายได้ค่าโดยสารจะเพิ่มชัดเจนในไตรมาสที่ 3  ส่วนรายได้จากการรับจ้างเดินรถโครงการสายสีม่วงเพิ่มขึ้น 84 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน
    และ รายได้จากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยการเปิดพื้นที่ Metro Mall ให้เช่าพื้นที่โฆษณาและเช่าพื้นที่ร้านค้าปลีก มีจำนวน 277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 70 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งยังได้รับผลดีจากการจัดสรรพื้นที่ให้เป็น Metro Art สถานีพหลโยธิน กระตุ้นให้ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะทุกแขนงได้เข้ามาใช้พื้นที่และจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง
    ขณะเดียวกัน ผลประกอบการของงวดหกเดือนปี 2566 ยังแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของ BEM อย่างชัดเจน ด้วยกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท มีจำนวนถึง 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 680 ล้านบาท หรือร้อยละ 70 
    นอกจากนี้ BEM ยังได้ขยายเวลาจำหน่ายบัตรเที่ยวโดยสาร (Pass) 30 วัน ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และบริษัทได้รับการคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ให้เป็นหนึ่งในบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Debentures) ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ BEM จะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ด้วยความพร้อมและความมุ่งมั่นในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มและประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
 
0
shares
เปิดอ่าน : 680
โดย : Expressway(Admin)